ปี พ.ศ. 2535 อาเซียนมีพื้นที่พรุรวมกันประมาณ 350,000 – 400,000 ตารางกิโลเมตร ประเทศอินโดนีเซียซึ่งมีพื้นที่พรุมากที่สุดถึง 170,000 ตารางกิโลเมตร รองลงมาคือประเทศมาเลเซีย ไทย บรูไน ฟิลิปปินส์ เวียดนามและลาวตามลำดับ ผลกระทบจากการพัฒนาและการจัดการพื้นที่พรุที่ผิดพลาดทำให้ปัจจุบันอาเซียนมีพื้นที่พรุเหลือประมาณ 250,000 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 60% ของพื้นที่พรุในเขตร้อนของโลก

พื้นที่พรุให้คุณประโยชน์แก่มวลมนุษย์ไม่น้อยไปกว่าสังคมพืชป่าไม้ชนิดอื่น ๆ ทั้งประโยชน์ทางตรงในแง่การใช้ไม้และของป่า อีกทั้งยังเป็นแหล่งรวมพันธุกรรมของพันธุ์ไม้และสัตว์ที่หายาก เป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์ป่านานาพันธุ์ นกนานาชนิดตลอดจนสัตว์น้ำรวมทั้งกบ เขียด กุ้งหอย ปู และปลาน้ำจืดหลากชนิดอีกด้วย

ในด้านของสังคมพืช พื้นที่พรุมีพันธุ์พืชที่เป็นเอกลักษณ์ (Unique flora) แตกต่างไปจากพรรณพืชของสังคมป่าชนิดอื่น ๆ นอกจากนี้พื้นที่พรุยังให้ข้อมูลทางวิวัฒนาการของสังคมพืช จากการวิเคราะห์ซากของเรณูดอกไม้ (fossil pollen) การเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาและการเปลี่ยนแปลงสภาพดินฟ้าอากาศของท้องถิ่น นั้นตั้งแต่ครั้งโบราณ นอกจากประโยชน์ทางตรงตามที่กล่าวแล้ว พื้นที่พรุยังเป็นแหล่งกักเก็บน้ำจืดขนาดใหญ่ตามธรรมชาติ น้ำส่วนหนึ่งจะไหลซึมหรือระบายออกจากพรุสู่แม่น้ำตลอดทั้งปี และพื้นที่พรุคือแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่มากที่สุดในโลก นอกจากนี้พื้นที่พรุเหล่านี้มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสนับสนุนการดำเนินชีวิตของชุมชนท้องถิ่น

A043-3

ผืนป่าพรุที่อุดมสมบูรณ์

ปัจจุบันอาเซียนกำลังสูญเสียพื้นที่พรุอย่างต่อเนื่อง อันมีสาเหตุจากสัมปทานปลูกปาล์มน้ำมันเพื่ออุตสาหกรรมผลิตไบโอแก๊ส และ อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด เฉพาะประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียสองประเทศรวมกันมีพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันมากถึง 80% ของทั้งโลก และกำลังขยายพื้นที่ปลูกเพื่อไปยังประเทศไทย เมียนม่าร์และกัมพูชา

สวนปาล์มน้ำมันเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พื้นที่พรุถูกรุกรานและก่อให้เกิดหมอกควันพิษข้ามพรมแดนตามมา เนื่องตากในการทำสวนปาล์มต้อมีการระบายน้ำออกจากป่าพรุ เผาป่าและปลูกปาล์มน้ำมัน เมื่อน้ำถูกระบายหรือระเหยไปหมดไม่พอหล่อเลี้ยงพรุ ระบบนิเวศจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากการระบายน้ำออกจากพรุทำให้ดินและน้ำบริเวณป่าพรุและใกล้เคียงกลายเป็นกรดอย่างรุนแรง ปลาและสัตว์น้ำต่าง ๆ สูญหายไปอย่างรวดเร็ว ยิ่งไปกว่านั้น อากาศร้อนจะแห้งแล้งมากขึ้น น้ำที่เคยมีในพื้นที่ป่าพรุก็แห้งเกิดไฟป่าเผาไหม้ได้ง่ายมาก โดยไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่พรุจะดับยากเพราะเป็นการไหม้ใต้พื้นดิน พื้นที่พรุจะกลายเป็นแหล่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ขนาดใหญ่และเมื่อไฟดับแล้วดินที่ถูกไหม้จะมีค่าความเป็นกรดสูง ค่า Ph อยู่ที่ 2-3 ไม่เหมาะสมแก่การเพาะปลูกและต้องใช้เวลานานกว่าระบบนิเวศน์จะฟื้นคืนมา หรืออาจจะกลายสภาพเป็นทะเลทรายในที่สุด

กลไกเดียวในปัจจุบันของอาเซียนที่จะจัดการกับปัญหาในพื้นที่พรุ คือ “การริเริ่มอาเซียนว่าด้วยการจัดการพื้นที่ดินพรุ” (ASEAN Peatland Management Initiative – APMI) ซึ่งเป็นผลจากการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนครั้งที่ 9 ในเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2545 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นความสำคัญของการป้องกันและควบคุมไฟป่าในพื้นที่พรุ

โดย APMI จะเป็นกลไกที่ชาติสมาชิกผ่านหลักการความร่วมมือและประสานงานภายในประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งระดับนานาชาติเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันในการจัดการพื้นที่พรุบนพื้นฐานความยั่งยืน ลดควันพิษข้ามพรมแดนและผลกระทบจากโลกร้อน

เป้าหมายของ APMI เพื่อส่งเสริมการจัดการพื้นที่พรุที่ยังยืนในภูมิภาคอาเซียน ผ่านการปฎิบัติงานร่วมกันและเสริมสร้างการประสานงาน การสนับสนุนและวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นที่ยั่งยืน ลดความเสี่ยงจากไฟป่าและหมอกควันพิษ รวมทั้งการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก

วัตถุประสงค์ของ APMI เพื่อ

  • เสริมสร้างความเข้าใจและศักยภาพในการจัดการพื้นที่พรุในภูมิภาค
  • ลดสถานการณ์การเกิดไฟป่าในพื้นที่พรุและหมอกควันพิษข้ามพรมแดนในภูมิภาค
  • สนับสนุนการปฎิบัติการในระดับชาติและท้องถิ่นในเรื่องการจัดการพื้นที่พรุและป้องกันไฟป่า

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้วจะพบว่า APMI มองการจัดการพื้นที่พรุแบบแยกส่วนกล่าวคือต้องการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันพิษข้ามพรมแดนอันมีสาเหตุสืบเนื่องจากไฟป่าในพื้นที่พรุ อันเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนที่ได้รับการจับตาจากสังคมนานาชาติ แต่ APMI ไม่ได้มีแนวทางที่ชัดเจนในการลดการบุกรุกและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่พรุอันเป็นรากเหง้าของปัญหาการจัดการพื้นที่พรุ

A043-2

ภาพแสดงพื้นที่พรุของอาเซียนที่กำลังถูกคุกคามจากไฟป่า

ดังนั้นพื้นที่พรุในอาเซียนจึงอยู่ในสภาวะความเสี่ยงต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีอาเซียนเกิดความตระหนักมากพอที่จะแก้ไขปัญหาการบุกรุกและสูญเสียพื้นที่พรุอย่างจริงจัง หรือพวกเราในฐานะพลเมืองอาเซียนต้องรณรงค์เชิงนโยบายให้เกิดการปกป้องพื้นที่พรุมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ที่มา :