โครงสร้างและกลไกการบริหารอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม

2303

ในปี พ.ศ. 2520 10 ปีหลังการก่อตั้งอาเซียน ประเทศสมาชิกได้ร่วมกันริเริ่มโครงการความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นเป็นครั้งแรกโดยความช่วยเหลือของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Environment Programme: UNEP) จัดทำโครงการอนุภูมิภาคด้านสิ่งแวดล้อม (ASEAN Sub regional Environment Programme I: ASEP I) พร้อมกับจัดตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (ASEAN Experts Group on the Environment: AEGE) ภายใต้คณะกรรมการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ASEAN Committee on Science and Technology: COST) เป็นผู้ดำเนินการโครงการ ASEP I ซึ่งมีระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2520 – 2524) หลังจากนั้นก็มีโครงการต่อเนื่องอีกสองโครงการคือ ASEP II (พ.ศ.2525 – 2530) และ ASEP III (พ.ศ. 2531 – 2535)

ในช่วงปี พ.ศ. 2535 ได้มีการปรับรูปแบบคณะผู้เชี่ยวชาญอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (AEGE) โดยยกฐานะจากคณะผู้เชี่ยวชาญเป็นคณะกรรมการ ซึ่งแยกออกจากคณะกรรมการด้านวิทยาศาสตร์ฯ เป็น เจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (ASEAN Senior Officials on the Environment: ASOEN) มีหน้าที่กำกับดูแลงานด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ เสนอแนะนโยบาย และประสานการจัดการสิ่งแวดล้อมของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างกันในอาเซียน อาเซียนกับภูมิภาคอื่นๆ และอาเซียนกับองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (ASEAN Ministers on the Environment) โดยที่เจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมจะรายงานการดำเนินงานและเสนอกิจกรรมและโครงการต่อที่ประชุมรัฐมนตรีทุกปี

การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (ASEAN Ministerial Meeting on the Environment: AMME) เป็นการประชุมเพื่อพิจารณากำหนดนโยบาย และทบทวนข้อตัดสินใจต่างๆ รวมทั้งให้ความเห็นชอบต่อแผนงาน/โครงการต่างๆจะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ การประชุมทางการซึ่งจะจัดขึ้นทุก 3 ปี โดยจะมีการหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพตามลำดับตัวอักษร (Alphabetical) และ การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไม่เป็นทางการ (The Informal ASEAN Ministerial Meeting on the Environment: IAMME) ซึ่งเกิดขึ้นจากมติที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 6 เมื่อ 25 – 26 เมษายน 2537 ณ บรูไนดารุสซาลาม เพื่อให้รัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมมีโอกาสพบปะ หารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นประจำในปีที่ไม่มีการประชุมอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมแต่ละครั้งยังมีการประชุมกรอบอาเซียน+3 (ASEAN+3) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมของอาเซียนกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี และกรอบเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS) หรือ อาเซียน+6 โดยมีเครือรัฐออสเตรเลีย สาธารณรัฐอินเดีย และนิวซีแลนด์ และปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มขึ้นคือ สหรัฐอเมริกา และสหพันธรัฐรัสเซีย ในระดับปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีให้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินโครงการ กิจกรรมตามนโยบาย แผน และแนวทางต่างๆที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรี

โครงสร้างและกลไกการบริหารอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม แบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้
1. การประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (ASEAN Ministerial Meeting on
Environment)
การประชุมของรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศสมาชิกอาเซียน มีวัตถุประสงค์เพื่อประชุมหารือในประเด็นปัญหาที่สำคัญและกำหนดแนวทางระดับนโยบาย และความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมของภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนทบทวนข้อตัดสินใจต่างๆ ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกันทุกปี

2. ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (ASEAN Senior Officials on the Environment:
ASOEN)
การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านสิ่งแวดล้อมเป็นการประชุมในระดับปลัดกระทรวง หรือเทียบเท่าของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแล และติดตามงานด้านสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งประเทศไทยมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทำหน้าที่เป็นประธานเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม โดยจะมีการประชุมร่วมกันทุกปี

3. คณะทำงานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (Working Group)
คณะทำงานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม เป็นการทำงานของเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งแบ่งออกเป็น 7 คณะทำงาน ดังนี้
(1) คณะทำงานอาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ASEAN Working Group on Climate Change: AWGCC) มีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานกลางประสานการดำเนินงาน
(2) คณะทำงานอาเซียนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ (ASEAN Working Group on Nature Conservation and Biodiversity: AWGNCB) มีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานกลางประสานการดำเนินงาน
(3) คณะทำงานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง (ASEAN Working Group on Coastal and Marine Environment: AWGCME) มีกรมควบคุมมลพิษเป็นหน่วยงานกลางประสานการดำเนินงาน
(4) คณะทำงานอาเซียนด้านข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม (ASEAN Working Group on Multilateral Environmental Agreements: AWGMEA) มีกรมควบคุมมลพิษเป็นหน่วยงานกลางประสานการดำเนินงาน
(5) คณะทำงานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน (ASEAN Working Group on Environmental Sustainable Cities: AWGESC) มีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานกลางประสานการดำเนินงาน
(6) คณะทำงานอาเซียนด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ (ASEAN Working Group on Water Resources Management: AWGWRM) มีกรมทรัพยากรน้ำเป็นหน่วยงานกลางประสานการดำเนินงาน
(7) คณะทำงานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมศึกษา (ASEAN Working Group on Environment
Education: AWGEE) มีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานกลางประสานการดำเนินงาน

นอกจากคณะทำงานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของอาเซียนยังมี
กรอบเวทีหารือประเด็นสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม และการดำเนินการที่คาบเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและ
สิ่งแวดล้อม ได้แก่
(1) Meeting of the Conference of the Parties to the ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution โดยมีกรมควบคุมมลพิษเป็นหน่วยงานกลางประสานการดำเนินงาน
(2) Meetings of Sub-Regional Ministerial Steering Committee (MSC) on Transboundary Haze Pollution โดยมีกรมควบคุมมลพิษเป็นหน่วยงานกลางประสานการดำเนินงาน
(3) Meeting of Mekong Sub-Regional Ministerial Steering Committee (MSC Mekong) on Transboundary Haze Pollution โดยมีกรมควบคุมมลพิษเป็นหน่วยงานกลางประสานการดำเนินงาน
(4) The Governing Board (GB) Meeting of the ASEAN Centre for Biodiversity (ACB) โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานกลางประสานการดำเนินงาน
(5) คณะกรรมการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ASEAN Committee on Science and Technology: ASEAN COST) โดยมีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหน่วยงานกลางประสานการดำเนินงาน ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นหน่วยประสานงานคณะอนุกรรมการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทะเล
(6) การประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ (ASEAN Ministers on Agriculture and Forestry: AMMF) มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก เพื่อกำหนดแนวทางในระดับนโยบายและทบทวนข้อตัดสินใจ โดยมีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็น
หน่วยประสานงานเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านป่าไม้ (ASEAN Senior Officials on Forestry: ASOF) ซึ่งเป็น
การประชุมภายใต้พันธกรณีของอาเซียนด้านป่าไม้ นอกจากนี้ ยังมีคณะทำงาน ASEAN Expert Group on
CITES ซึ่งมีการดำเนินงานจัดตั้งเครือข่ายการบังคับใช้กฎหมายด้านสัตว์ป่าและพืชป่าในภูมิภาคอาเซียน
(ASEAN Wildlife Enforcement Network: ASEAN-WEN) โดยมีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
เป็นหน่วยงานหลักในการทำหน้าที่กำกับดูแล
(7) การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านแร่ (ASEAN Senior Officials Meeting on Minerals: ASOMM) มีกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก และกรมทรัพยากรธรณี ร่วมเป็นคณะทำงานด้านสารสนเทศและฐานข้อมูลแร่ (Working Group on Mineral Information and Database: WGMID)

ฟ
แหล่งที่มาoic.mnre.go.th
แบ่งปัน