ในปี 2007 ที่มีการจัดการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 13 (COP 13) และรัฐภาคีพิธีสารเกียวโตสมัยที่ 3 (CMP 3) ที่บาหลีสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในวันที่ 3 -15 ธันวาคม 2007 ทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศกลายเป็นประเด็นที่อาเซียนให้ความสนใจ โดยในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 13 ที่จัดขึ้นที่สิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2007 ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้ถูกนำมาเป็น ประเด็นย่อยของการประชุมครั้งนี้ซึ่งประเด็นหลัก (40 th Anniversary Theme) ได้แก่ One ASEAN at the Heart of Dynamic Asia และประเด็นย่อย (Substantive Theme) ของการประชุมครั้งนั้นคือ Energy, Environment, Climate Change and Sustainable Development. ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการนำประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมาพูดถึงอย่าง จริงจังในที่ประชุมอาเซียนเพื่อรองรับการประชุม COP 13 ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นนั่นเอง

 

ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งนั้นได้มีการก่อตั้ง The ASEAN Climate Change Initiative(ACCI) เพื่อเป็นแนวนโยบายที่เป5นที่ปรึกษาต่อการประสานงานระหว่างภูมิภาคในการ เพิ่มประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเข้าไปเป็นประเด็นสำคัญและดำเนิน การในการนำไปปฏิบัติอย่างเข้มแข็งในการตอบสนองต่อผลกระทบที่เป็นผลร้ายจากปัญหาดังกล่าวโดยขอบข่ายของ ACCI ครอบคลุม (1) การสร้างนโยบายและยุทธศาสตร์ ทางด้านการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (2) การแบ่งปันข้อมูลข่าวสารต่างๆเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว (3) ความสามารถในการสร้างเทคโนโลยีเพื่อมารองรับการแก้ปัญหาและ (4) การส่งต่อเทคโนโลยีเหล่านั้นให้แก่ประเทศสมาชิกได้นำไปใช้และอาเซียนได้มี การจัดตั้งคณะทำงานเพื่อผลักดันการทำงานตามกรอบของ ACCI ได้แก่ คณะทำงานอาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (the ASEAN Working Group on ClimateChange : AWGCC) ซึ่งเกิดจากการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมครั้งที่ 11 ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อเดือนตุลาคมปี 2009 โดยประเทศไทยได้รับเป็นประธานคณะทำงานชุดนี้ 3 ปีตั้งแต่ปี 2010-2012 โดยได้การจัดประชุมคณะทำงานอาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 1 (The 1st Meeting of the ASEANWorking Group on Climate Change : AWGCC) ที่กรุงเทพฯเมื่อวันที่ 31 มีนาคม-1 เมษายน 2010 มีผู้แทนจากอาเซียนเข้าร่วมประชุมหารือโดยสาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้ เป็นการกำหนดท่าทีภายใต้กรอบข้อตกลงร่วมกันเพื่อใช้เป็นแนวทางในการเจรจา เรื่องภาวะโลกร้อนของอาเซียนก่อนที่จะมีการประชุมประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญา สหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่16 (COP 16) ที่จัดขึ้นที่เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโกวันที่ 29 พฤศจิกายน – 10 ธันวาคม 2010 ซึ่งมีความต้องการในการสร้างตัวเลขเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกของกลุ่ม ประเทศพัฒนาแล้วหลังจากที่พิธีสารเกียวโตจะหมดอายุลงในปี 2012 โดยมีข้อถกเถียงว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะเข้ามามีส่วนร่วมในการรับผิดชอบ ลดก๊าซเรือนกระจกอย่างไรรวมถึงแนวทางการร่วมมือกันระหว่างกลุ่มประเทศพัฒนา แล้วและกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาในการแก้ปัญหาดังกล่าว

 

นอกจากนี้ในวิสัยทัศน์อาเซียน (The ASEAN Vision 2020) ยังต้องการให้อาเซียนเป็น “A Clean and Green ASEAN” ที่เต็มไปด้วยกลไกที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมคงไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาคอาเซียน จึงได้กระตือรือร้นในการรับรองการเจรจาระหว่างประเทศในกรอบความร่วมมือเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโดยตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมารัฐสมาชิกอาเซียนได้ร่วมกันทำข้อตกลงและแถลงการณ์ที่สนับสนุนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเช่น ASEAN Declaration on Environmental Sustainability (13th ASEAN Summit in 2007) ASEAN Declaration on COP-13 to the UNFCCC and CMP-3 to the Kyoto Protocol (13th ASEAN Summit in 2007) Singapore Declaration on ClimateChange, Energy and the Environment (3rd EAS Summit in 2007) Joint Ministerial Statement of the1st EAS Energy Ministers Meeting (2007) Ministerial Statement of the Inaugural EAS Environment Ministers Meeting (2008) ASEAN Joint Statement on Climate Change to COP-15 to the UNFCCC and CMP-5 to the Kyoto Protocol (15th ASEAN Summit in 2009) Singapore Resolution on Environmental Sustainability and Climate Change (11th AMME in 2009) เป็นต้นและความพยายามในการก่อตั้งประชาคมอาเซียนซึ่งจะเกิดขึ้นในปี 2015 นี้อาเซียนก็ได้มีความพยายามในการเพิ่มประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะใน เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเข้าไปไว้ในส่วนของประชาสังคมและวัฒนธรรมอา เซียน (ASEAN Socio-cultural Community) และได้มีการจัดทำแผนการของอาเซียนตั้งแต่ปี 2009-2015 ซึ่งจะเป็นการกำหนดทิศทางความร่วมมือเรื่องโลกร้อนของกลุ่มอาเซียนที่มีแผน งานชัดเจนโดยมีแผนที่เรียกว่า “แผนงานการจัดตั้งประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน” (ASCC Blueprint) ครอบคลุมรายละเอียด 11 ประเด็น โดยมีประเด็นเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกและการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศและผลกระทบอยู่ในนั้นโดยจะมีการแบ่งปันข้อมูลข่าวสารทางด้านการ เปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทั้งระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศรวมทั้งจัดหาแหล่ง เงินทุนการอบรมทางเทคนิควิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากประเทศพัฒนาแล้วมาแนะนำ การแก้ปัญหาดังกล่าวด้วย

 

สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้เกิดภัยพิบัติตามมาอาเซียนมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติด้วย เช่นกัน ได้แก่ คณะกรรมการจัดการพิบัติภัยอาเซียน (ASEAN Committee on Disaster Management – ACDM) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2003 ประกอบด้วยตัวแทนจากรัฐสมาชิกอาเซียนในระดับหัวหน้าหน่วยงานหรือองค์กรของ รัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดการพิบัติภัยต่างๆทั้งที่เกิดโดยธรรมชาติและที่ เกิดโดยมนุษย์มีหน้าที่รับผิดชอบประสานจัดการงานทุกอย่างที่เกี่ยวข้องในอา เซียนในเรื่องการช่วยเหลือและฟื้นฟูเหตุวินาศภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคคณะกรรมการ ACDM ได้จัดทำ “โครงการจัดการพิบัติภัยในภูมิภาคอาเซียน” หรือ “ASEAN Regional Programme on Disaster Management – ARPDM” เพื่อกำหนดกรอบความร่วมมือในปี 2004-2010 กำหนดยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการกำหนดงานและกิจกรรมเร่งด่วนตามลำดับก่อน หลังเพื่อลดพิบัติภัยและเป็นที่ประสานความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาและ องค์การระหว่างประเทศที่เป็นพันธมิตรร่วมงานกับอาเซียนในรูปแบบต่างๆ อีกด้วยและยังได้จัดตั้ง ASEAN-Emergency Rapid Assessment Team หรือ ASEAN-ERAT ซึ่งเป็นทีมงานที่ประกอบด้วยบุคคลผู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องพิบัติภัยต่างๆ มีประสบการณ์ปฏิบัติงานในพื้นที่เกิดภัยในอาเซียนและประเทศอื่นๆในโลกโดยได้ ออกปฏิบัติงานในพื้นที่พิบัติภัยที่สำคัญหลายครั้งเช่นเหตุพิบัติภัยพายุไซ โคลนนากีสในพม่าเดือนพฤษภาคม 2008 เหตุน้ำท่วมในลาวปี 2009 และคลื่นยักษ์สึนามิที่เกาะเมนทาไว (Mentawai Island) ในอินโดนีเซียเดือนตุลาคมปี 2010 โดยอยู่ภายใต้การสั่งการของศูนย์ประสานงานอาเซียนว่าด้วยการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเกี่ยวกับการจัดการพิบัติภัย (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on disaster management – AHA Centre) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการประสานงานทุกอย่างเกี่ยวกับเรื่องพิบัติภัยในอาเซียน ทั้งการระดมทรัพยากรบุคคลเงินช่วยเหลือและสิ่งของบรรเทาทุกข์ต่างๆที่จะได้จากความร่วมมือกับรัฐสมาชิกอาเซียน ประเทศคู่เจรจามิตรประเทศ และองค์การระหว่างประเทศอื่นๆในโลก โดยศูนย์นี้ตั้งขึ้นที่กรุงจาการ์ตาประเทศ อินโดนีเซียและได้รับการประกาศจัดตั้งอย่างเป็นทางการในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 19 ที่เกาะบาหลีของประเทศอินโดนีเซีย โดยในที่ประชุมได้พยายามหาความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง

 

กิจกรรมระดับภูมิภาคบางกิจกรรมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ได้แก่

* “โครงการฟื้นฟูและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนของป่าพรุในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เป็นดำเนินการภายใต้มาตรการป้องกันไฟป่าในพื้นที่พรุอันเป็นแหล่งของหมอกควันพิษในภูมิภาค ได้รับงบประมาณ 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

* “โครงการความหลากหลายทางชีวภาพและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” ได้รับการช่วยเหลือทางการเงินจากประเทศเยอรมัน จำนวน 2,500,000 ยูโร ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อช่วยเหลืออาเซียนในการพัฒนาการดำเนินยุทธศาสตร์และเครื่องมือด้านจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

* การประชุมเชิงปฏิบัติการและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องขีดความสามารถในการปรับตัวของเมืองต่อภาวะโลกร้อน : แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 มกราคม ปี พ.ศ.2553 ณ กรุงจาการ์ตาประเทศอินโดนีเซียเพื่อเป็นตัวแทนของเมืองในอาเซียน และรัฐบาลของประเทศในการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศบทเรียนการเรียนรู้และประสบการณ์ในการจัดการกับผลกระทบที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และคาดว่าจะเกิดในอนาคตจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

* การประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องความเสี่ยงผลกระทบจากความรุนแรงสุดขั้วของน้ำท่วมและความแห้งแล้งในอาเซียนจัดขึ้นระหว่าง 9-10 มิถุนายน ปี พ.ศ.2553 ที่ประเทศไทยการประชุมนี้ได้ประเมินศักยภาพของประเทศสมาชิกอาเซียนในการจัดการภาวะน้ำท่วมและความแห้งแล้ง เพื่อทบทวนการเตรียมการการป้องกันการบรรเทาความเสี่ยงวางแผนการปรับตัว และแลกเปลี่ยนแบบอย่างที่ดีในการจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง

* เวทีเยาวชนสิ่งแวดล้อมอาเซียนบวกสาม: สร้างบรรยากาศเพื่อการเปลี่ยนแปลงจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-25 เมษายน ปี พ.ศ.2553 ที่ประเทศบรูไนอันเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการแผนสิ่งแวดล้อมศึกษาอาเซียน ปี พ.ศ. 2551-2555 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสนใจและความตระหนักในเยาวชนจากประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสามในประเด็นการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สรุปผลเวทีด้วย “แถลงการณ์อาเซียนบวกสามปฏิบัติการเยาวชนเพื่อสิ่งแวดล้อม”

* โปรแกรมประจำปีผู้นำอาเซียนบวกสามว่าด้วยการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของแผนสิ่งแวดล้อมศึกษาอาเซียน ปีพ.ศ.2551-2555 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมความรู้ ทักษะ และเครื่องมือแก่ผู้นำภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนายุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืน

* การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นการจัดการปัญหาโดยภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอื่นๆในอาเซียนอีกด้วย ดังเช่น เกษตรกรรมและป่าไม้ พลังงานและการคมนาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

เอกสารอ้างอิง

  1. กระทรวงการต่างประเทศ http://www.mfa.go.th/main/th/issues/42472-การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ.html
  2. http://www.aseangreenhub.in.th/envinat-ac/th/asiantogetsection/162-asean-outlook1-9
  3. http://www.environnet.in.th/?page_id=3677

 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

 

  • ASEAN Cooperation on Climate Change

[http://environment.asean.org/climate-change-page/]

แบ่งปัน