ภาพรวมของกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย

1890

พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ซึ่งถือเป็นกฎหมายแม่บทในการจัดการสิ่งแวดล้อมของไทย ได้รับเอาหลักการทางเศรษฐศาสตร์ทางด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมตามปฏิญญาริโอและแผนปฏิบัติการ 21 อาทิ หลักผู้ก่อมลพิษต้องจ่าย (Polluter Pays Principle) และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรักษาสิ่งแวดล้อมมาบัญญัติไว้ นอกจากนี้ลักษณะเด่นที่สำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับนี้[1] อาทิเช่น

  • การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มาตรา 6 บัญญัติให้บุคคลอาจมีสิทธิในการที่จะได้รับทราบข้อมูลข่าวสารจากทางราชการในเรื่องที่เกี่ยวกับการส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การได้รับการชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าทดแทนจากรัฐ ในกรณีที่ได้รับความเสียหายที่เกิดจากมลพิษที่มีสาเหตุมาจากกิจกรรมหรือโครงการของรัฐ
  • การรับรองฐานะขององค์กรเอกชนทางด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้สามารถรับความช่วยเหลือจากราชการในกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้
  • การจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือและให้กู้ยืมในการจัดให้มีระบบบำบัดอากาศและน้ำเสีย และในการดำเนินกิจการต่างๆที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
  • การยกฐานะของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จากองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ให้คำปรึกษา มาเป็นคณะกรรมการระดับชาติ ทำหน้าที่ดังเช่น การกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม การให้ความเห็นต่อแผนการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

นอกจากนั้น ยังมีพระราชบัญญัติที่สำคัญต่อการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอีกอย่างน้อย 4 ฉบับ ได้แก่ (1) พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 (2) พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 (3) พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ.2535 และ (4) พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535

กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆของประเทศไทยในประเด็นด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมแต่ละประเภท มีลักษณะกระจายตัวแยกออกเป็นกฎหมายฉบับต่างๆ และมีหน่วยงานที่รับผิดชอบแตกต่างกันไป อาทิเช่น

  • กฎหมายด้านการควบคุมมลพิษทางน้ำ ได้แก่
    • พ.ร.บ. การชลประทานหลวง พ.ศ. 2548
    • พ.ร.บ. การประมง พ.ศ. 2490
    • พ.ร.บ. การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535
    • พ.ร.บ. สาธารณสุข พ.ศ. 2535
    • พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535
    • กฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความใน พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
    • พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2510
    • พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 ฯลฯ
  • กฎหมายระดับรองและกฎหมายเฉพาะอื่นๆ

กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมในระดับท้องถิ่น (Local environmental legislation) แต่เดิมองค์กร​ปกครอง​ส่วน​ท้อง​ถิ่น​มี​บทบาท​ใน​ด้าน​สิ่ง​แวดล้อม​ในการ​ดูแล​เรื่อง​การ​จัดการ​ขยะ​มูลฝอย​และ​สิ่ง​ปฏิกูล​รวม​ถึง​เรื่อง​สิ่ง​แวดล้อม​ใน​ชุมชน​เป็น​หลัก แต่ตั้งแต่​ภาย​หลัง​รัฐธรรมนูญ​ พ.ศ. ​2540​ เป็นต้น​มา ภายใต้กระบวนการกระจายอำนาจ ​องค์กร​ปกครอง​ส่วน​ท้อง​ถิ่น​ใน​การ​จัดการ​สิ่ง​แวดล้อม​มี​บทบาท​มากขึ้น​ใน​แง่​การ​จัดการ การ​บำรุง​รักษา​และ​การ​ใช้​ประโยชน์​จาก​ทรัพยากรธรรมชาติ​และ​สิ่ง​แวดล้อม​ใน​พื้นที่​ท้อง​ถิ่น​ของ​ตนด้วย[2]

 

[1] สรุปจาก กอบกุล รายะนาคร (2540) “กฎหมายสิ่งแวดล้อมของไทย” รายงานทีดีอาร์ไอฉบับที่ 19 เดือนตุลาคม 2540 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย.

[2] ใน วรัญญู เสนาสุ (2556). “การกระจายอำนาจกับการจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” , ชุดหนังสือ การสำรวจองค์ความรู้เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย, กรุงเทพฯ : เป็นไท.

แบ่งปัน